วันอังคารที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2555

เรื่องของระบบเกียร์

ระบบเกียร์เป็นสิ่งพื้นฐานที่เราควรจะดูแลเองได้บ้าง ระบบเกียร์นั้นจะเริ่มต้นกันตั้งแต่ shifter สายเกียร์(shift cable)ตัวสับจานหน้า(front derailleur)หรือตีนผี(rear derailleur)และชุดใบจาน(chain rings)หรือเฟืองหลัง(cog set)รวมไปถึงโซ่(chain)ที่รับส่งกำลังให้


เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่เราควรจะต้องมี คือ จะต้องทำความรู้จักมักคุ้นกับสิ่งที่เราจะลงมือเสมอ
1.Shifter ทำหน้าที่ในการเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ จะประกอบด้วยตัวเปลี่ยนตำแหน่งจานหน้าซึ่งจะอยู่ด้านซ้ายมือ และตัวเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์หลังซึ่งจะอยู่ด้านขวามือของแฮนด์เสมอ Shifter แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มตามลักษณะรูปร่างได้แก่
  •  Thumb shift
ยี่ห้อที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดีก็คือ Shimano ซึ่งได้ทำการพัฒนาปรับปรุงให้สามารถใช้งานได้อย่างสะดวกและแม่นยำภายใต้ชื่อทางการค้าว่า"Rapidfire"
  •  Rotary shift
หรือที่เราชอบเรียกติดปากตามยี่ห้อว่า Grip shift ซึ่งปัจจุบันยี่ห้อที่เป็นที่นิยมกันคือ SRAM หรือ SACH ในอดีตนั่นเอง





Shifter จะทำการเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์โดยอาศัยการส่งแรงดึงผ่านสายเกียร์ โดยสอดอยู่ภายในปลอกสายเกียร์  สายเกียร์จะไปดึงสับจานหรือตีนผี ให้ไปดันโซ่ให้มีการเปลี่ยนตำแหน่งจานหน้าหรือเฟืองหลัง ตัว shifter จะต้องทำมาให้เข้ากัน(compatible)กับตัวสับจานหรือตีนผีที่ใช้ เช่น ตีนผีสำหรับ 9 สปีด ก็จะต้องใช้กับ shifter สำหรับ 9 สปีดด้วยเช่นกัน โดยทั่วไปแล้ว SRAM กับ Shimano จะสามารถใช้แทนกันได้ ยกเว้นเฉพาะ SRAM รุ่น ESP ที่ต้องใช้กับตีนผี SRAM รุ่น ESP ด้วยกัน เพราะว่ามีระยะดึงมากกว่าตัวอื่นๆ ถึง 2เท่า

บริเวณที่สายเกียรออกจาก shifter นั้น จะมีตัวปรับความตึงของสายเกียร์ (ยกเว้น Rapid Fire ที่ใช้เปลี่ยนเกียร์หลังของ Shimano รุ่นล่างๆ จะไม่มีตัวเร่งสายเกียร์ที่ Shifter แต่ให้ไปปรับที่ตีนผีแทน) ถ้าหมุนเข้าในหรือที่ฝรั่งเรียกว่าหมุนวนขวาหรือหมุนตามเข็มนาฬิกา(ในกรณีที่ดูจากด้านนอกเข้าไป) จะทำให้สายเกียร์หย่อนลง แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าหมุนออกหรือที่ฝรั่งเรียกว่าหมุนวนซ้ายหรือหมุนทวนเข็มนาฬิกาจะทำให้สายเกียร์ตึงขึ้น ซึ่งอันนี้ขอให้เข้าใจให้ตรงกันเสียก่อนไม่เช่นนั้นเวลาเจอคำว่าหมุนเข้าหรือหมุนออกจะได้ไม่สับสน 

อาจจะมีหลายคนถามว่า RapidFire vs Grip Shift อะไรดีกว่ากัน? ถามง่ายแต่ตอบยาก เพราะความจริงแล้วไม่มีอะไรที่ดีไปกว่ากัน แล้วแต่คนชอบ แล้วแต่คนใช้ RapidFire ให้ความรู้สึกนุ่มนวลกว่า ให้ความรู้สึกแม่นยำกว่า Grip Shift ให้ความรู้สึกหนักแน่นกว่า แต่เนื่องจากใช้ข้อมือบิดซึ่งมีกล้ามเนื้อมัดใหญ่และหยาบกว่ากล้ามเนื้อที่คุมนิ้วมือ จึงมีโอกาสที่จะบิดเกินหรือบิดขาดโดยเฉพาะด้านเกียร์หลัง ทำให้บางคนเข้าใจว่าไม่แม่นยำเท่ากับ RapidFire แต่ถ้าหากเรียนรู้วิธีการใช้งานจนชำนาญแล้วจะพบว่ามีความแม่นยำไม่แตกต่างจาก RapidFire นอกจากนี้ stroke ในด้านการเปลี่ยนตำแหน่งสับจานหน้าจะทำได้กว้างกว่า RapidFire เนื่องจากสามารถบิดต่อเนื่องกันได้ ทำให้มีความ
ยืดหยุ่นในการใช้ร่วมกับใบจานหน้าแบบเก่าที่ไม่มีหมุดช่วยวิดโซ่


2.สายเกียร์และปลอกสาย (Shift cable and shift-cable casing) สายเกียร์ทำมาจากลวดเส้นเล็กๆนำมาขวั้นเป็นเกลียวคล้ายกับสายลวดสลิง สายเกียร์จะแบ่งออกเป็น 2พวกใหญ่ๆ ได้แก่
  •  Plain cable เป็นสายโลหะธรรมดาไม่มีอะไรเคลือบอยู่ จึงมีโอกาสสกปรกหรือเป็นสนิมได้ ถ้าหากไม่ได้รับการดูแลที่ดีพอ
  • Coated cable เป็นสายโลหะเคลือบผิวด้วยสารสังเคราะห์ได้แก่ teflon มีผลช่วยลดความเสียดทานระหว่างตัวสายกับปลอกสาย  ทำให้การเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ราบรื่นขึ้น และยังช่วยลดโอกาสการเกิดสนิมของสายเกียร์ได้
สายเกียร์จะสอดร้อยไปในปลอกสายแล้วเดินไปตามตัวถังจักรยาน การเดินสายเกียร์จะมีอยู่ด้วยกัน 2 ลักษณะ คือ
  •  เดินไปตามท่อบน(top tube) จะใช้กับสับจานชนิดดึงบน  ส่วนสายที่ดึงตีนผีจะเดินไปตามตะเกียบอาน(seat stay) การเดินสายโดยวิธีนี้มีข้อได้เปรียบในเรื่องของการดึงสับจาน   เพราะแนวของสายเกียร์จะค่อยๆโค้งไปตามปลอกสายจากท่อบนลงมาที่ท่ออาน ทำให้ไม่ต้องออกแรงในการดึงสับจานมากนัก
  • เดินไปตามท่อล่าง(down tube) จะใช้กับสับจานชนิดดึงล่าง ส่วนสายที่ดึงตีนผีจะเดินไปตามตะเกียบโซ่(chain stay) วิธีเดินสายไปตามท่อล่างเป็นที่นิยมกันในหมู่เสือหมอบและเสือภูเขาบางยี่ห้อ การเดินสายวิธีนี้จะใช้ปลอกสายน้อยกว่าวิธีการเดินตามท่อบน  แต่มีข้อเสียที่สายเกียร์จะมีโอกาสสัมผัสกับสิ่งสกปรกหรือโคลนทำให้เกิดสนิมได้ง่าย  และสายเกียร์ที่ดึงสับจานก็จะต้องมีการวกอ้อมกระโหลกขึ้นไปโดยอาศัยร่องพลาสติกเป็นตัวguide ทำให้การเปลี่ยนตำแหน่งจานหน้าจะค่อนข้างกินแรงกว่าวิธีเดินตามท่อบน  และเมื่อสายเกียร์บริเวณนั้นเป็นสนิม จะทำให้มีความฝืดมากขึ้น
3.สับจานหน้า (Front deraillure) สับจานจะเป็นตัวเปลี่ยนตำแหน่งของโซ่บนจานหน้า โดยอาศัยการดึงของสายเกียร์เพื่อผลักโซ่จากจานเล็กขึ้นไปจานใหญ่กว่า และอาศัยการดีดกลับของสปริงในการดันโซ่จากใบจานใหญ่ลงไปใบจานที่เล็กกว่า สับจานแบ่งได้ออกเป็น 2 ประเภทตามวิธีในการยึดกับจักรยาน
  • สับจานแบบรัดท่อ (Seat tube band mount)  สับจานชนิดนี้จะยึดติดกับท่ออาน(seat tube) โดยอาศัยแหวนรัด(clamp band) ซึ่งมีอยู่ถึง 3 ขนาด  ตามขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางภายนอกของท่ออาน คือ 28.6 ,31.8 และ 34.9 mm จึงเป็นเรื่องน่าปวดหัวอย่างหนึ่งในการจะต้องหาสับจานให้ถูกขนาดกับท่ออานทุกครั้งที่เปลี่ยนเฟรมจักรยานอันใหม่ นอกจากจะมีถึง 3 ขนาดแล้ว ยังแบ่งประเภทย่อยออกไปตามตำแหน่งตัวรัด ได้แก่ 
    • รัดล่าง (top-swing link type) แหวนรัดท่อจะอยู่ต่ำกว่าขอบบนของใบสับจาน
    • รัดบน (standard link type) แหวนรัดท่อจะอยู่สูงกว่าขอบบนของใบสับจาน ซึ่งเป็นแบบดั้งเดิมที่ทำมานานแล้ว
การจะเลือกใช้รัดบนหรือรัดล่างนั้น ไม่ได้มีข้อแตกต่างกันนักในเรื่องการใช้งานเพียงแต่ว่าในเฟรมบางเฟรม ส่วนท่ออานด้านล่างอาจจะไม่เหมาะสมที่จะใช้สับจานรัดล่าง เช่น ติดรอยเชื่อม หรือติดจุดหมุน
  •  สับจานแบบเกี่ยวกระโหลก (Bottom bracket mount หรือ สับจาน typeE) สับจานชนิดนี้จะยึดเกี่ยวติดกับกระโหลก  โดยจะต้องใช้กับกระโหลกที่ออกแบบไว้(bottom bracket typeE) ตัวสับจานเองจะมีรูสำหรับขันสกรูเพื่อยึดกับตัวท่ออาน เพื่อป้องกันไม่ให้สับจานขยับไปมา ดังนั้นนอกจากจะต้องใช้กับกระโหลกที่ออกแบบไว้แล้วตัวท่ออานเองก็ต้องออกแบบมาเผื่อด้วยโดยจะต้องมีรูสำหรับยึดกับตัวสับจานด้วย แต่เราอาจจะแก้ปัญหาด้วยการหาแหวนadapterที่เจาะรูทำเกลียวเอาไว้สำหรับยึด มารัดกับท่ออานแทน ซึ่งจะมีอยู่ 3 ขนาดเช่นกัน นอกจากจะแบ่งตามวิธีที่ยึดกับจักรยานแล้วก็ยังแบ่งออกตามวิธีการดึงของสายเกียร์ (cable routing)
    • สับจานดึงบน (top route) สายเกียร์จะเดินมาตามท่อบนแล้วตีโค้งลงมาหาตัวสับจาน เฟรมของเสือภูเขาส่วนใหญ่ในท้องตลาดจะออกแบบมาสำหรับสับจานดึงบนเราจึงสามารถหาสับจานแบบนี้ได้ทั่วๆไป
    • สับจานดึงล่าง (bottom route) สายเกียร์จะเดินมาตามท่อล่าง แล้วจึงจะวกอ้อมกระโหลกขึ้นไปดึงสับจาน ถ้าไม่นับเสือหมอบแล้วเสือภูเขาที่ใช้สับจานแบบดึงล่างนี้จะมีสัดส่วนอยู่น้อยกว่าแบบดึงบน ( ในปัจจุบันเสือภูเขาหลายยี่ห้อ เช่น GTซึ่งเคยใช้สับจานแบบดึงล่าง ก็หันมาทำเฟรมที่ใช้กับสับจานแบบดึงบนแทน )
    • สับจานแบบดึงได้ 2 ทาง (dual-pull type) ถูกทำมาให้ใช้ได้ทั้งดึงบนและดึงล่างโดยทาง Shimano ได้ทำออกในท้องตลาดเพียงรุ่นเดียว คือ Deore

      • สกรูตัว H และ L ทำหน้าที่จำกัดระยะของสับจาน
      • Chain guide ทำหน้าที่ผลักโซ่เพื่อเปลี่ยนตำแหน่งใบจาน มีลักษณะเป็นกรอบ 
        • ด้านในจะผลักโซ่ขึ้นจานใหญ่ 
        • ด้านนอกจะผลักโซ่ลงจานเล็ก
การจะเลือกสับจานหน้ามาใช้ มีสิ่งที่ต้องคิดหลายอย่าง เช่น
  1. ชนิดของสับจานที่เหมาะสมกับเฟรม เช่น รัดท่อหรือเกี่ยวกระโหลก ถ้าเป็นรัดท่อจะต้องใช้ขนาดไหน รัดบนหรือรัดล่าง  ซึ่งปัญหาน่าปวดหัวนี้ทางShimanoได้ออกแบบสับจานในรุ่นDeoreให้สามารถใช้ได้ทั้งดึงบนและดึงล่าง โดยทำมาเป็นแบบรัดท่อเพียงขนาดเดียวคือ 34.9 mm แต่มี adapter มาให้เพื่อสามารถใช้ได้กับ 31.8 mm หรือ 28.6 mm ได้
  2. Rear compatibility ออกแบบมาเหมาะสมกับเฟืองหลัง 7 , 8 หรือ 9 speeds
  3. Top-low maximum capacity หมายถึงผลต่างระหว่างจำนวนฟันของจานใหญ่กับจำนวนฟันของจานเล็กที่มากที่สุดที่ตัวสับจานสามารถทำงานได้อย่างราบรื่น ซึ่ง ส่วนใหญ่มีค่า = 22
  4. Top-middle minimum capacity หมายถึงผลต่างระหว่างจำนวนฟันของจานใหญ่กับจำนวนฟันของจานกลาง ที่น้อยที่สุดที่ตัวสับจานจะทำงานได้อย่างราบรื่นซึ่งส่วนใหญ่มีค่า = 12
  5. ขนาดของจานหน้าใบใหญ่ที่สุดที่จะสามารถใช้ได้ เพราะสับจานหน้าถูกออกแบบมาจำเพาะเจาะจงกับขนาดใบจานด้วย หากใช้ใบจานที่ใหญ่เกินไป ตัวสับจานจะทำงานได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ อาจจะปัดโซ่ลงจานกลางได้ไม่ราบรื่นพอ
  6. Chainstay angle หรือ มุมระหว่างท่ออานกับตะเกียบโซ่ เฟรมเสือภูเขาส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วง 66-69 องศา แต่บางรุ่นอาจมีค่าอยู่ในช่วง 63-66 องศา สับจานในท้องตลาดส่วนใหญ่จะทำมาสำหรับมุม 66-69 องศา แต่ก็มีสำหรับ 63-66 องศาเช่นกันโดยจะบอกไว้ที่ตัวสับจานให้สังเกตเห็นได้จึงควรเลือกใช้ให้เหมาะสมเพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น
4.ตีนผี (Rear derailleur) ตีนผีจะทำหน้าที่เปลี่ยนตำแหน่งเกียร์หลัง โดยอาศัยการดึงของสายเกียร์ในการเปลี่ยนเกียร์จากเฟืองตัวเล็กขึ้นไปสู่เฟืองตัวใหญ่ และอาศัยแรงดีดกลับของสปริงในตีนผีในการ
เปลี่ยนเกียร์จากเฟืองตัวใหญ่ลงไปสู่เฟืองตัวเล็ก (ในตีนผีรุ่นreverse หรือ RapidRise ของ Shimano XTR จะทำงานตรงกันข้ามกับตีนผีทั่วไป)
    • เฟืองจอกกี้ (guide pulley)จะทำหน้าที่ในการดันโซ่ให้เปลี่ยนตำแหน่ง
    • เฟืองtension (tension pulley)จะเป็นตัวดึงให้แนวโซ่ด้านล่างตึงอยู่ตลอดเวลา
    • สกรูตัว LและH จะทำหน้าที่จำกัดระยะของตีนผี
    • B-tension screw จะเป็นตัวตั้งความแข็งของสปริงที่จะดันให้ขาของตีนผีขยับออกมาจากเฟรม
    • Fine-adjusting knob เป็นตัวปรับเร่งความตึงของสายเกียร์ ซึ่งจะปรับได้ค่อนข้างละเอียดกว่าที่ shifter


   การจะเลือกตีนผีมาใช้งาน มีสิ่งที่ต้องคิดหลายอย่างเช่นกัน
  1. ขนาดเฟืองหลังที่ใหญ่ที่สุด และเล็กที่สุดที่ตีนผีรุ่นนั้นจะทำงานได้
  2. จำนวนเฟืองหลังที่เหมาะสมกับตีนผีนั้นๆ เช่น ตีนผีสำหรับเฟืองหลัง 7 ชั้น จะใช้งานได้ไม่ดีหรือไม่ได้กับเฟืองหลัง 8 หรือ 9 ชั้น
  3. shifter ที่ทำงานเข้ากัน (compatible) โดยทั่วไปมักจะใช้ด้วยกันได้หมด ยกเว้นตีนผี SRAM ตระกูล ESP ต้องใช้กับ grip shift ตระกูล ESP เท่านั้น
5.ชุดใบจานหน้า( chain rings)
  ใบจานหน้าในปัจจุบันจะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ
    • ใบจานหน้าของระบบเฟืองหลัง 7 สปีด
    • ใบจานหน้าของระบบเฟืองหลัง 8 สปีด
    • ใบจานหน้าของระบบเฟืองหลัง 9 สปีด
      • ในแต่ละกลุ่มไม่ควรจะนำมาใช้แทนกัน เนื่องจากมีลักษณะปลีกย่อยที่แตกต่างกันออกไปตามชนิดของโซ่ที่ใช้ หากใช้ผิดระบบจะมีผลต่อความราบรื่นของการทำงานรวมไปถึงอายุการใช้งานของโซ่
โดยทั่วไปแล้วเสือภูเขาจะมีจำนวนจานหน้า 3ใบ ซึ่งผู้ผลิตใบจานต่างพยายามพัฒนาให้ชุดจานหน้าสามารถทำงานได้ดีและราบรื่น โดยเฉพาะการเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์จานหน้า โดยเพิ่มหมุดวิดโซ่ที่ขอบด้านในของใบจานกลางและใบจานใหญ่ ทาง Shimano เป็นผู้ผลิตที่พัฒนาหมุดวิดโซ่นี้เป็นรายแรกๆ รวมไปถึงได้ปรับปรุงให้ทำงานได้ราบรื่นที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ผลิตรายอื่นๆ โดยตั้งชื่อว่าระบบ Hyperdrive ดังรูปที่ได้วงกลมเอาไว้




ใบจานหน้าจะถูกยึดกับขาจานด้วยสกรูและน๊อตแบบพิเศษ รูยึดใบจานอาจจะมี 4 หรือ 5 รูขึ้นอยู่กับบริษัทผู้ผลิต แต่จะแบ่งมาตรฐานเป็น 2 แบบ เหมือนกันคือ
  • Compact 
    • ชนิด 5 รู มีระยะจากจุดศูนย์กลางของรูใบจานใบใหญ่และใบกลางถึงจุดศูนย์กลางของกระโหลก 94 mm และระยะจากจุดศูนย์กลางของรูใบจานเล็ก กับจุดศูนย์กลางของกระโหลก 58 mm ซึ่งเราจะเรียกว่า 94/58 mm
    • ชนิด 4 รู มีขนาด 104/64 mm
  • Standard
    • ชนิด 5 รู มีขนาด110/74 mm
    • ชนิด 4 รู มีขนาด 112/68 mm
6.ชุดเฟืองหลัง (cog set) ชุดเฟืองหลังโดยทั่วไปจะมีอยู่ตั้งแต่ 7 ,8 และ 9 ชั้น (สำหรับเฟืองหลัง 10 ชั้นนั้นได้ถูกผลิตขึ้นมาใช้ในชุดแข่งขัน ซึ่งยังไม่เป็นที่แพร่หลายจึงขออนุญาตละเอาไว้ก่อน)เฟือง
แต่ละชุดจะมีความแตกต่างกันและไม่อาจนำมาใช้ทดแทนกันได้เลย (ยกเว้นจะเปลี่ยนอุปกรณ์ในระบบที่เกี่ยวข้องทั้งหมด)
  • ชุดเฟือง 7 ชั้น ซึ่งปัจจุบันจะมีใช้ในระบบเกียร์รุ่นล่างสุดและกำลังเสื่อมความนิยมลง เพราะระบบเกียร์ที่ถูกผลิตออกสู่ตลาดในปัจจุบันเป็นชุด 8 และ 9 ชั้นเป็นส่วนใหญ่ระยะห่างระหว่างเฟืองใบใหญ่สุดกับเฟืองใบเล็กสุดของระบบเฟือง 7 ชั้นจะมีระยะน้อยกว่าของระบบ 8 และ 9 ชั้น ทำให้ต้องใช้กับดุมหลัง(free wheel hub)เฉพาะรุ่นที่ทำมาเฉพาะเฟือง 7 ชั้นเท่านั้น
  • ชุดเฟือง 8 ชั้น เป็นระบบที่ยังได้รับความนิยมอยู่ และยังถูกผลิตออกมาจำหน่ายในรุ่นล่างถึงรุ่นกลาง
  • ชุดเฟือง 9 ชั้น เป็นระบบที่ทาง Shimano เริ่มผลิตออกมาจำหน่ายในปี คศ.1999 หลังจากประสพความสำเร็จกับจักรยานถนนมาก่อน ชุดเฟือง 9 ชั้นจะมีระยะห่างระหว่างเฟืองใหญ่สุดกับเฟืองเล็กสุดเท่ากันกับชุดเฟือง 8 ชั้น  จึงทำให้สามารถใช้ดุมหลังร่วมกันได้ แต่เนื่องจากระยะห่างดังกล่าวเท่ากันจึงทำให้เฟือง 9 ชั้นต้องมีระยะช่องไฟระหว่างเฟืองแคบกว่า และเฟืองมีความหนาน้อยกว่าระบบเฟือง 8 ชั้นจึงทำให้ต้องใช้โซ่ที่มีความบางกว่า
7.โซ่ (chain)โซ่ถูกออกแบบมา โดยขึ้นกับลักษณะของชุดเฟืองและใบจาน โดยทั่วไปแล้วโซ่ของระบบเฟือง 7 กับ 8 ชั้นนั้นพอจะใช้ทดแทนกันได้  แต่กรณีสำหรับโซ่ของเฟือง 9 ชั้นจะแปลก
แยกออกไปเนื่องจากความแตกต่างของความหนาและระยะช่องไฟของเฟืองหลัง ทำให้โซ่
ของระบบเฟือง 9 ชั้นมีความบางกว่าของระบบ 8 ชั้นประมาณ 0.6 mm


ขอขอบคุณ www.bikeloves.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น