วันอังคารที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2555

ลองลงมือทำ

การติดตั้งสับจานหน้า
สับจานหน้าจะเป็นอุปกรณ์ที่มีโอกาสจะก่อปัญหาในการใช้งานได้บ่อยที่สุด ถ้าหากไม่ได้รับการติดตั้งที่ถูกวิธี


สิ่งสำคัญที่ต้องนึกถึงในการติดตั้งสับจานหน้า คือ
  • ตำแหน่งความสูงของสับจาน โดยปกติเวลาซื้อสับจานมาใหม่จะมีอุปกรณ์ที่เรียกว่า pro-set alignment block มาด้วย อุปกรณ์นี้จะทำจากพลาสติกสีขาวหรือดำ สอดรองให้ chain guide ขยับออกมาเล็กน้อย ทำให้การตั้งตำแหน่งสับจานง่ายขึ้น แต่ถ้าไม่มีมาให้หรือหายไปแล้วก็ไม่เป็นไร ทั้งนี้เนื่องจากระดับความสูงของสับจานจะมีความยืดหยุ่นได้บ้าง ตำแหน่งความสูงที่เหมาะสมนั้นจะทำให้ขอบล่างของ chain guide ด้านนอก อยู่สูงกว่ายอดใบจานใหญ่ 1-3 mm

  • แนวของใบสับจาน(chain guide) การตั้งแนวของchain guide เพื่อให้การทำงานของสับจานเป็นไปอย่างราบรื่นนั้น ในทางปฏิบัติจะปรับให้แนวของ chain guide ด้านนอกขนานกับใบจานใหญ่(ดังรูป)

ถ้าส่วนท้ายของchain guide เบนออกด้านนอก จะส่งผลให้การขึ้นจานใหญ่ง่ายขึ้น แต่จะลงจานเล็กได้ลำบากในทางตรงกันข้าม ถ้าส่วนท้ายของ chain guide เบนเข้าด้านใน จะส่งผลให้การขึ้นจานใหญ่ลำบากแต่จะลงจานเล็กได้ง่ายขึ้น


ในขณะที่สับจานแบบเกี่ยวกระโหลกเป็นสับจานที่แทบจะไม่มีปัญหาจากการติดตั้งเลย เพราะว่าได้ถูกออกแบบบังคับตำแหน่งเอาแต่แรกแล้ว จะปรับได้ก็เพียงระดับความสูงได้เพียง 2ระดับเท่านั้น 
สับจานหน้ารุ่น XTR ของ Shimano จะเป็นสับจานหน้าที่ค่อนข้างจะยุ่งยากในการติดตั้งสักหน่อย ถ้าหากไม่มี pro-set alignment block ติดมาด้วย เพราะแนวของ chain guide ด้านนอกและด้านในจะเปลี่ยนไปตามจังหวะการทำงาน เนื่องจากได้รับการออกแบบมาเป็นพิเศษ อีกทั้งไม่แนะนำให้ใช้กับจานหน้าแบบcompact ในรุ่น XT ลงไป  เนื่องจากอาจจะมีปัญหาของ chain guide ด้านในจะติดขัดกับขอบของใบจานกลาง ในจังหวะที่เปลี่ยนขึ้นจากจานกลางไปจานใหญ่ได้ ทำให้เป็นปัญหาในการจะเปลี่ยนตำแหน่งขึ้นไปใช้ใบจานใหญ่ได้เสมอๆ

การติดตั้งตีนผี
ใช้กุญแจหกเหลี่ยมขนาด 5 mm ขันยึดตีนผีกับส่วนDrop out ของเฟรมจนแน่นพอ การติดตั้งตีนผีหลังไม่มีเรื่องยุ่งยากเหมือนกับสับจานหน้า เพราะว่าเฟรมจะบังคับเอาไว้

การเลือกความยาวโซ่ที่เหมาะสม
ความยาวโซ่ที่เหมาะสมจะทำให้เราสามารถใช้เกียร์ได้ครบทุกเกียร์ สามารถเก็บเกียร์ที่ตำแหน่งจานหน้าเล็กสุดและเฟืองหลังเล็กสุด (1-9 ในเกียร์ 27 สปีด)ได้โดยที่โซ่ไม่มีการหย่อนตกท้องช้าง และสามารถใช้ตำแหน่งเกียร์ต้องห้าม 3-1 ได้ โดยไม่ติดขัด  ความยาวโซ่ที่เหมาะสมนั้นจะวัดโดยการคล้องโซ่ผ่านเฟืองหลังใหญ่สุด ไปยังจานหน้าใบใหญ่สุด โดยไม่คล้องผ่านตีนผี เอาปลายโซ่ 2 ข้างมาบรรจบชนกันพอดี และบวกไปอีก 2 ข้อ (1 คู่ คือมีทั้ง outer-link plate และ inner-link plate)ดังรูป
การปรับแต่งเกียร์
ในที่นี้จะขอกล่าวเฉพาะระบบเกียร์ 27 สปีด หรือ 3x9  และ RapidFire shifter เพื่อความเข้าใจ
ที่ตรงกัน(สำหรับระบบ 21,24 สปีด และ Grip shift ก็ใช้หลักการเดียวกันทุกประการ)เพื่อความสะดวกในการทำงาน ควรจะหาขาตั้งที่สามารถยกให้ล้อหลังลอยขึ้นจากพื้นได้อย่างอิสระหรือจะหาเพื่อนใจดีมาช่วยยกรถให้ล้อหลังลอยจากพื้นก็ไม่ผิดกติกาอะไร ตำแหน่งเริ่มต้นคือโซ่จะคล้องผ่านจานหน้าเล็กสุดและเฟืองหลังเล็กสุด ซึ่งเป็นตำแหน่งเริ่มต้นของเกียร์(สปริงของทั้งสับจานและตีนผีจะหย่อนที่สุด)
  • เริ่มต้นกันที่เกียร์หลังหรือตีนผีกันก่อนครับ 
    • หมุนตัวเร่งความตึงของสายทั้งที่ตีนผี และ shifter (ถ้ามี)เข้าในให้สุดแล้วคลายออกมาประมาณ 1/2 รอบ
    • ใช้สายตาเล็งแนวระหว่างเฟืองจอกกี้กับยอดเฟืองเล็กสุดก่อนดูว่าตรงกันหรือไม่ ถ้าหากเยื้องกันให้ปรับสกรูตัว H ถ้าหมุนสกรูเข้า(ตามเข็มนาฬิกา) เฟืองจอกกี้จะขยับเข้าด้านใน ถ้าหมุนออก(ทวนเข็มนาฬิกา) เฟืองจอกกี้จะขยับตัวออกด้านนอก ให้ปรับคร่าวๆไปก่อน แล้วค่อยปรับให้ละเอียดในภายหลัง
การปรับให้ละเอียดนั้นจะต้องทำหลังจากติดตั้งเกียร์หน้าเรียบร้อยแล้ว โดยปรับตำแหน่งจานหน้าไว้ที่จาน 3 หรือจานใหญ่สุด ปรับตำแหน่งเกียร์หลังไว้ที่เกียร์ 9  แล้วเล็งแนวระหว่างเฟืองจอกกี้กับยอดเฟืองเกียร์ 9 อีกครั้ง ปรับสกรูตัว H จนกระทั่งได้แนวที่ตรงกัน
    • สอดสายเกียร์ผ่านเข้าไปในที่ยึด ใช้คีมดึงปลายสายให้ตึง จากนั้นจึงใช้หกเหลี่ยม 5 mm ขันสกรูที่ใช้ยึดสายเกียร์จนแน่น
    • หมุนบันไดให้ล้อหลังหมุน
    • ลดตำแหน่งเกียร์หลังด้วย shifter จากเกียร์ 9-->8 ดูว่าเกียร์เปลี่ยนในทันทีหรือไม่
      • ถ้าหากว่าเกียร์ไม่ยอมลดตำแหน่งลง หรือเปลี่ยนไปแล้วแต่มีแนวโน้มว่าจะกลับมาอยู่ที่เกียร์ 9 อย่างเดิม ซึ่งจะสังเกตได้จากเสียงหรือการกระโดดของโซ่กลับมายังตำแหน่งเดิม แสดงว่าสายเกียร์หย่อนเกินไป ให้หมุนตัวเร่งความตึงออก จนกระทั่งเกียร์เปลี่ยนตำแหน่งตามต้องการหรือเสียงเงียบลง
      • ถ้าเกียร์ลดตำแหน่งลงไปยังเกียร์ 8 ได้ แต่มีแนวโน้มว่าจะลดตำแหน่งไปยังเกียร์ 7 เองซึ่งจะสังเกตได้จากเสียงหรือการกระโดดของโซ่ แสดงว่าสายเกียร์ตึงเกินไป ให้หมุนตัวเร่งความตึงเข้า จนกระทั่งเกียร์หยุดท่าทีที่จะเปลี่ยนเองหรือเสียงเงียบลง
ปกติแล้วสายเกียร์ที่ตึงไปหรือหย่อนไปเล็กน้อยนั้นอาจจะไม่เห็นผลได้ชัดในช่วงแรกๆ แต่เมื่อลดเกียร์ไปจนถึงเกียร์ 4 หรือเกียร์ 3 แล้วจะสังเกตอาการได้ชัดกว่า เพราะจะสะสมความคลาดเคลื่อนจนถึงจุดที่แสดงออกได้อย่างชัดเจนก็ให้ทำการปรับหมุนตัวเร่งเข้าหรือออกแล้วแต่ปัญหา ทดสอบจนถึงเกียร์ 2
    • จากนั้นลดตำแหน่งเกียร์หลังจนถึงเกียร์ 1 ถ้า
      • ลดเกียร์ไม่ลง แสดงว่าตีนผีไม่สามารถขยับตัวเข้าไปด้านในได้อีก ให้คลายสกรูตัว L ที่ตีนผีออกมา (ทวนเข็มนาฬิกา) ทีละน้อย จนสามารถลดเกียร์ได้พอดี
      • ลดเกียร์ลงได้แต่โซ่หล่นข้ามเฟืองเกียร์ 1 หรือมีแนวโน้มว่าจะไต่ข้ามเฟือง แสดงว่าตีนผีสามารถขยับตัวเข้าไปด้านในได้มากเกินไป ให้มาเล็งตำแหน่งเฟืองจอกกี้และเฟืองเกียร์ 1 จากทางด้านหลัง แล้วจึงหมุนสกรูตัว L เข้า (ตามเข็มนาฬิกา) จนกระทั่งยอดเฟืองจอกกี้ตรงกับยอดเฟืองเกียร์ 1 พอดี 
(การตรวจเช็คความพอดีของสกรูตัว L นั้นจะทำเมื่อจานหน้าอยู่ในตำแหน่งจาน 1 หรือจานเล็กเสมอ)

    • ทดลองใช้มือดันขาตีนผีไปข้างหน้า(รถ)แล้วปล่อยกลับหลายๆครั้ง เพื่อดูระยะห่างระหว่างเฟืองจอกกี้กับเฟืองเกียร์ 1 จากนั้นจึงใช้ไขควงปาก 4 แฉกหมุนปรับ B-tension screw ให้ยอดเฟืองจอกกี้ต่ำกว่าเฟืองเกียร์ 1 ประมาณ 1 mm ถ้าใกล้กันเกินไปในเวลาที่ปั่นบันไดเฟืองจอกกี้จะกระทบกับเฟืองเกียร์ 1 จนเกิดเสียงรบกวน  ให้แก้ไขโดยหมุน B-tension screw เข้าใน (ตามเข็มนาฬิกา)


    • จากนั้นให้ลองไล่เกียร์ขึ้นบน ลดเกียร์ลงล่างจนทำงานคล่องทุกเกียร์ 

สายเกียร์ตึงเกินไป เกียร์จะพยายามเปลี่ยนตำแหน่งไปยังตำแหน่งที่เฟืองหลังใหญ่ขึ้นเอง และเมื่อเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์จากเฟืองใหญ่ไปเฟืองเล็กจะทำได้ลำบากหรือมีเสียงรบกวน
สายเกียร์หย่อนเกินไป เมื่อเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์จากเฟืองเล็กไปยังเฟืองใหญ่ เกียร์จะไม่ยอมเปลี่ยนหรือเปลี่ยนแล้วจะพยายามเปลี่ยนกลับไปยังตำแหน่งเดิม แต่เมื่อเปลี่ยนตำแหน่งจากเฟืองใหญ่ลงมาเฟืองเล็กจะทำได้ง่ายหรือเกียร์จะเปลี่ยนตำแหน่งให้เอง

  • จากนั้นมาต่อกันที่เกียร์หน้าหรือสับจานหน้ากัน
    • หมุนตัวเร่งความตึงของสายทั้งที่ shifter เข้าในให้สุดแล้วคลายออกมาประมาณ 1/2 รอบ
    • หมุนบันได เปลี่ยนตำแหน่งเกียร์หลังไปที่เกียร์ 1 หรือเฟืองใหญ่สุด ดูระยะห่างระหว่างโซ่กับ chain guide ด้านใน แล้วปรับสกรูตัว L ด้านบนตัวสับจาน
      • ถ้าหมุนเข้าในหรือตามเข็มนาฟิกา ใบสับจานจะขยับออกนอก (Chain guide ด้านในขยับเข้าชิดกับโซ่)
      • ถ้าคลายออกหรือหมุนทวนเข็มนาฬิกา ใบสับจานจะขยับเข้าด้านใน (Chain guide ด้านในขยับออกห่างจากโซ่)

ให้ปรับสกรูตัวLจนได้ระยะห่างระหว่างโซ่กับ Chain guide ด้านใน เท่ากับ 0-0.5 mmจากรูปเป็นสับจานแบบรัดล่างหรือ Top-swing แต่ถ้าเป็นแบบรัดบนหรือ Standard link ตำแหน่งสกรูตัว H กับ L จะสับตำแหน่งกันกับที่แสดง

    • สอดสายเกียร์ผ่านเข้าไปในที่ยึด ใช้คีมดึงปลายสายเกียร์ให้ตึงแล้วจึงใช้หกเหลี่ยม 5 mm กวดสกรูที่ใช้ยึดสายเกียร์จนแน่น สำรวจความตึงของสายเกียร์ในส่วนที่พาดผ่านเฟรม ถ้ายังหย่อนอยู่ให้ติดตั้งใหม่จนตึงพอดี
    • หมุนบันได เปลี่ยนตำแหน่งเกียร์หลังไปที่เกียร์ 5 แล้วกด shifter เปลี่ยนตำแหน่งจานหน้าจากจานเล็กขึ้นไปยังจานกลาง โดยกด shifer แช่ไว้จนกระทั่งโซ่เปลี่ยนตำแหน่งมาอยู่ที่จานกลางจึงปล่อยมือ ถ้าหากโซ่เลื่อนขึ้นจานกลางด้วยความลำบากแสดงว่าสายหย่อนเกินไป ให้หมุนตัวเร่งความตึงสายออกมาทีละ1 รอบ จนกระทั่งพอใจ (แต่อาจจะไม่พอดี)
    • จากนั้นให้หมุนบันไดแล้วลดเกียร์หลังไปที่เกียร์ 1 ดูระยะห่างระหว่างโซ่กับ chain guide ด้านใน ปรับตัวเร่งความตึงสายที่ shifter จนกระทั่งโซ่อยู่ห่างจาก chain guide ด้านใน 0-0.5 mm ซึ่งจะเป็นค่าความตึงของสายเกียร์ที่ถูกต้องตามทฤษฎีที่สุด(ดังรูป)


    • หมุนบันไดเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์หลังไปที่เกียร์ 9 แล้วเปลี่ยนตำแหน่งจานหน้าจากจานกลางขึ้นไปจานใหญ่ โดยกด shifer แช่ไว้จนกระทั่งโซ่เปลี่ยนตำแหน่งมาอยู่ที่จานใหญ่แล้วจึงปล่อยมือ ถ้าหากความตึงของสายถูกต้องตั้งแต่เมื่อสักครู่โซ่ควรจะขึ้นไปยังจานใหญ่ได้อย่างสะดวก แต่ถ้า
      • โซ่ขึ้นจานใหญ่ด้วยความลำบากและรู้สึกฝืนๆในการกด shifter ให้คลายสกรูตัว H ที่สับจานออกทีละ 1/8 รอบ จนกระทั่งสามารถขึ้นจานใหญ่ได้อย่างราบรื่น
      • โซ่ขึ้นจานใหญ่แล้วหล่นข้ามออกไปด้านนอก หรือมีแนวโน้มว่าจะหล่นให้หมุนสกรูตัว H ที่สับจานเข้าทีละ 1/4 รอบ
    • หมุนบันได ลดตำแหน่งเกียร์หน้าจากจานใหญ่ลงมาจานกลางซึ่งควรจะลงมาได้อย่างราบรื่น ลดตำแหน่งเกียร์หลังลงไปที่เกียร์ 1 แล้วลดตำแหน่งเกียร์หน้าจากจานกลางลงไปที่จานเล็ก ถ้า
      • โซ่ลงจานเล็กไม่ได้หรือลงได้ไม่ดี ให้คลายสกรูตัว L ที่สับจานออกทีละ 1/4 รอบ
      • โซ่หล่นข้ามจานเล็กลงไปด้านในของกระโหลก ให้ขันสกรูตัว L ที่สับจานเข้าทีละ 1/2 รอบ โดยสามารถเช็คจากระยะห่างระหว่างโซ่กับ Chain guide ด้านใน ในตำแหน่งเกียร์ 1-1 ซึ่งควรมีค่าอยู่ในช่วง 0-0.5 mm

ความตึงของสายเกียร์หน้า อาจจะปรับให้หย่อนหรือให้ตึงกว่ากฎเกณฑ์ที่ให้ได้อีกเล็กน้อย เนื่องจากว่าการปรับแต่งสับจานหน้านั้นมีความยืดหยุ่นมากกว่าการปรับเกียร์หลัง ขอเพียงปรับแต่งสกรู L และ H ได้ถูกต้อง รวมไปถึงติดตั้งได้อย่างพอดี ก็จะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโซ่หล่นข้ามจานหรือการทำงานเท่าไรนัก

จากนั้นให้ลองปรับตำแหน่งเกียร์หลังและสับจานหน้าดูว่าสามารถทำงานได้ดีทุกๆตำแหน่งหรือไม่ ถ้าหากที่ทำมาทั้งหมดถูกต้องแล้วก็ไม่ควรจะมีปัญหาใดๆ แต่ถ้าหากไม่ราบรื่นดีนักให้ลองตรวจสอบย้อนหลังดูว่าขั้นตอนที่ทำมาตั้งแต่ต้นนั้นถูกต้องหรือไม่

ขอเพียงแต่มีความอดทน และค่อยๆสังเกตก็จะพบว่าการปรับแต่งเกียร์นั้นไม่ใช่เรื่องยากที่ต้องพึ่งช่าง
สามารถเรียนรู้และลองทำได้เอง ปัจุจบันระบบเกียร์เปลี่ยนแปลงไปนิดหน่อยค่อยศึกษาเพิ่มเติมไม่มีอะไรยากเกินไป ขอให้โชคดีครับ


ขอขอบคุณ http://www.bikeloves.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น